‘สวนบำบัด’ ดอกไม้ในสวน ธรรมชาติในใจ และการพัฒนาคนพิการ
ปัจจุบัน ความรู้ในการบำบัดและฟื้นฟูคนพิการและผู้สูงอายุมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องดี เพราะการบำบัดและฟื้นฟูแต่ละประเภทอาจเหมาะกับบริบทและผู้รับการบำบัดแตกต่างกันไป
ในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ จึงมีการสนับสนุนการบริการไว้ถึง 26 ประเภท อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อเด็กพิการพยายามผลักดันอีกหนึ่งบริการเข้าไปเป็นบริการที่ 27 กิจกรรมนี้เรียกว่า ‘สวนบำบัด’
เมื่อ ‘สวน’ เริ่มต้นที่ดอกไม้ 1 ดอก
เมื่อได้ยินคำว่า สวนบำบัด เชื่อว่าความคิดแรกที่ปรากฏคงเป็นภาพสวนที่มีต้นไม้ใหญ่เล็กประดับประดา มีสนามหญ้ากว้างๆ ไว้ทำกิจกรรมต่างๆ นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ กล่าวว่า ถ้ามีพื้นที่สวนดังว่าก็นับเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่อุปสรรค
นพ.ประพจน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สวนบำบัด มีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ ประการแรก ต้องมีต้นไม้ ถ้าเป็นสวนจะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างดีกว่า แต่ถ้าไม่มีก็อาจเป็นต้นไม้สักกระถางสองกระถาง กล่าวคือต้องมีองค์ประกอบของต้นไม้ใบหญ้า
องค์ประกอบที่ 2 ต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมพัฒนาและบำบัดได้ ซึ่งอาจจะเป็นนักสวนบำบัด ครู หรือครอบครัวของคนพิการ
และองค์ประกอบสุดท้าย คือความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น การประเมินความพิการเพื่อจัดกิจกรรมสวนบำบัดที่จะสนองตอบความต้องการของเด็ก และเมื่อกิจกรรมจบก็สามารถประเมินผลกิจกรรมได้
“เริ่มแรก สวนบำบัดใช้รักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะในอเมริกาเขาใช้รักษาทหารผ่านศึก ผู้ป่วยทางด้านจิตเวช เพราะเมื่อมาทำธรรมชาติบำบัดเกี่ยวกับพืชและสวน เขาจะรู้สึกผ่อนคลายและช่วยรักษาได้ แทนที่จะใช้ยาเพียงอย่างเดียว
“เวลาที่เราทำกิจกรรมสวนบำบัด เราอาจนำส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ เราก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสวน ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสวนทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ไม้ประดับ ไม้ดอก ผัก หรือแม้กระทั่งใบไม้หนึ่งใบ กิ่งไม้หนึ่งกิ่ง”
กิจกรรมสวนบำบัด
ในต่างประเทศ ‘นักพืชสวนบำบัด’ ต้องผ่านการเรียนหลักสูตรปริญญาโท มีความเข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรียนรู้ความพิการประเภทต่างๆ ซึ่งในไทยเวลานี้ยังไม่มีนักพืชสวนบำบัดในลักษณะที่ว่า ทั้งยังต้องใช้เวลาและต้นทุนสูงจึงอาจไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น
มูลนิธิเพื่อเด็กพิการจึงเน้นการนำความรู้ด้านสวนบำบัดในแบบที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปประยุกต์ได้จัดอบรมให้ครูและครอบครัวเด็กพิการก่อนเป็นเบื้องต้น
“เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ ใช้พี่เลี้ยง ครู บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชนเพราะพื้นฐานของเราเป็นเกษตรกรรมอยู่แล้วเราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้เพราะมันไม่ได้ซับซ้อนมาก ไม่มีอันตรายต่อเด็ก คนพิการ หรือผู้สูงอายุ อย่างน้อยการทำกิจกรรมส่วนบำบัดก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้เกิดความเพลิดเพลิน ความผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่มแต่ถ้าเราจะเพิ่มพัฒนาการ เราก็ใส่ความรู้เข้าไปอีกนิดหน่อย เพิ่มตัวชี้วัดว่า จะประเมินความพิการอย่างไร จะประเมินว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ก็จะมีแบบประเมินง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อประเมินว่ากิจกรรมนี้ช่วยพัฒนาการด้านไหนของเด็ก” นพ.ประพจน์ กล่าว
ยกตัวอย่างเช่นการประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็ก เพื่อจัดกิจกรรมสวนบำบัดให้ตอบโจทย์ของเด็กคนนั้น เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ แล้วจึงเลือกกิจกรรมส่วนบำบัด ถ้าเด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว การนั่ง การยืน ก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืนซึ่งอาจต้องทำสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กมือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับ ก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ หลังจากนั้นจึงประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ เพื่อสร้างกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ชื่นชมดอกไม้ร่วมกัน
ผู้ปกครองเด็กพิการตระหนักดีว่า ต้นทุนในการพาเด็กไปโรงพยาบาลเพื่อรับการบำบัดนั้นค่อนข้างสูง ทัศนี สิงห์ทอง ผู้ปกครองเด็กพิการ เล่าว่า เมื่อก่อนเธอต้องจ่ายค่าแท็กซี่ไป-กลับครั้งละไม่ต่ำกว่า 400-500 บาท แต่ความรู้ด้านสวนบำบัดที่เธอได้รับผ่านการอบรมช่วยให้เธอสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ใช้เวลาทำกิจกรรมเพื่อสร้างพัฒนาและบำบัดลูกสาวของเธอได้เต็มที่
ทัศนีย์ยอมรับว่า เมื่อเข้าอบรมแรกๆ เธอไม่ค่อยเข้าใจ นึกถึงแต่การปลูกต้นไม้ ทำสวน จนเมื่อผ่านการอบรม ความเข้าใจเธอจึงเปลี่ยนไป
“มันคือการเอาธรรมชาติมาบำบัด ไม่ได้เกี่ยวว่าเราต้องปลูกต้นไม้หรือรอดูผลผลิต ไม่ใช่เฉพาะแค่สวน แต่เป็นธรรมชาติที่อยู่รอบข้างเราทั้งหมด มันทำให้เรามองรอบข้างตัวเองมากขึ้น จากแต่ก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยสังเกตอะไร เดินผ่านต้นไม้ต้นนี้ทุกวัน ทำไมเราไม่เคยสังเกตเห็นดอกของมัน ทำไมเราไม่เคยสังเกตว่าดอกมันสวย พอเราได้เข้าอบรม เราอยากมองต้นไม้อยากมองดอกไม้ มันสวยนะ ทำให้เราสังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น เอาธรรมชาติที่อยู่ข้างกายเราที่เดินผ่านทุกวันมาชื่นชมทำให้เราใจเย็นขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น”
เธอเล่าอีกว่า ด้วยข้อจำกัดที่ที่พักของเธอมีพื้นที่ไม่มาก เธอใช้วิธีปลูกต้นไม้ ดอกไม้เล็กๆ ไว้ในกระถาง เวลาจัดแจกันไหว้พระก็ชวนลูกของเธอมาช่วยจัด ได้สัมผัส ได้ฟังเสียงนกร้อง ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่ทั้งต่อลูกและตัวเธอ ยามที่มีนกมาเกาะ เธอและลูกรับรู้ร่วมกันกับสิ่งแปลกใหม่เหล่านี้
“เราสัมผัสได้ว่าเขารู้สึก เขายิ้ม เขาดีใจที่ได้รู้สิ่งใหม่ๆ น้องเขาตอบสนองกับเรามากขึ้น ใช้มือมากขึ้นอาจเป็นเพราะเราฝึกเขาหลายๆ อย่าง เรากายภาพเขาด้วย แล้วเราก็ให้เขาได้หยิบจับกับเรามากขึ้น ช่วยเราหยิบโน่น ช่วยเราจับนี่ มันก็เลยกระตุ้นให้เขารู้สึกว่าอยากจับและจับได้นานขึ้นจากที่ไม่จับเลย
“เราว่าเราได้เยอะกว่าลูกอีก” ทัศนีย์พูดพร้อมกับหัวเราะ “เราเข้าใจที่ครูบอกว่าผู้ดูแลก็สำคัญ ลูกก็รับรู้จากเราว่าเราโอเคไหม เรามีความรู้สึกอะไร ยังไง ถ้าเราอารมณ์ดี ลูกก็สัมผัสได้ ซึ่งมันก็ใช่ พอเราไม่เครียด ลูกเราก็พลอยได้รับอานิสงส์ อารมณ์ดีไปด้วย อย่างเวลาเราพาลูกไปสวน เราก็คุยกับลูกว่าดูสิลูกมีผีเสื้อด้วย มีดอกไม้สวยด้วย ซึ่งแต่ก่อนเราไม่เคยมีแบบนี้เลย คือพาลูกมาก็มาแบบตั้งหน้าตั้งตามาเลย แต่พอได้เข้าสวนแล้วเรารู้สึกว่าได้พาลูกมองข้างๆ มีเวลากับลูกมากขึ้น มีเวลาผ่อนคลายมากขึ้น”
คุณลุงนักจัดดอกไม้
นอกจากการนำกิจกรรมสวนบำบัดไปใช้ในครอบครัวแล้ว สิ่งนี้ยังถูกนำไปขยายผลต่อตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และคนพิการ เช่นกรณีโรงพยาบาลลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีวสุวพิชญ์ ซ้อมจันร์ทรา ทำหน้าที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้เข้าอบรมสวนบำบัดและนำกระบวนการไปใช้
“กระบวนการในการบำบัดใช้ได้กับคนที่มาทำกลุ่มคนอย่าง อสม. เริ่มตั้งแต่การขุดดิน การเตรียมแปลงก็จะมีปฏิสัมพันธ์กันในเครือข่าย ช่วยเยียวยาความรู้สึกของเรา ทุกวันพุธเวลามาตลาด เครือข่ายทุกคนก็จะไปเยี่ยมชมแปลงทำให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง
“อีกอันหนึ่งคือเอาไปใช้ในเรื่องผู้สูงอายุในชุมชน เราไปชวนเขาจัดดอกไม้ เพาะกล้าอ่อน และช่วยกันทำที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและคนพิการของ อบต. เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เรานำไปแทรกในกลุ่มของผู้สูงอายุที่มาโรงเรียนผู้สูงอายุ
“มีคุณลุงคนหนึ่งไม่เคยจัดดอกไม้เลยเพราะเข้าใจว่าการจัดดอกไม้เป็นเรื่องของผู้หญิง หลังจากที่ใช้กระบวนการนี้ คุณลุงก็มีความรู้สึกเปลี่ยนไปจากเดิม คือรู้สึกมีความสุข ได้มองเห็นหลายๆ มุมของดอกไม้และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า การจัดดอกไม้ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง ตัวเราก็สามารถทำได้ แล้วคุณลุงก็ไปจัดดอกไม้ที่บ้านโดยเอาดอกไม้ข้างบ้านมาใส่แจกันไว้ จะกินข้าวก็เอามาวางไว้ข้างๆ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยมี คุณลุงเขาก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้น แล้วก็อยากไปเชิญชวนเพื่อนมาจัดด้วย”
อนาคตของสวนบำบัด
ปัจจุบัน กิจกรรมสวนบำบัดในไทยมีกระจายตัวอยู่ประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการคนพิการ โรงพยาบาล หรือเครือข่ายของผู้ปกครองเด็กพิการ
นพ.ประพจน์ กล่าวว่า อยากให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สวนบำบัดเป็นอีกหนึ่งบริการ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม โดยการประกาศนี้จะมีความสำคัญ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้และสามารถเข้าถึงได้
ระดับที่ 2 ขณะนี้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกลงร่วมกันและยอมรับว่าศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภท 1 ของ สปสช.
“ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะเป็นรูปนโยบายใหญ่ว่า ต่อไปถ้าศูนย์บริการผู้พิการจะจัดกิจกรรมสวนบำบัดก็ต้องจัด เพราะเป็นนโยบายของกระทรวงและขณะเดียวกันศูนย์บริการก็เป็นสถานบริการสาธารณสุขที่ สปสช. รับรองด้วย ก็จะเกิดความร่วมมือของทั้งสามส่วน”
สิ่งนี้อาจเป็นบันไดขั้นแรกๆ เพื่อใช้ในการศึกษาประสิทธิภาพและความคุ้มทุนของกิจกรรมสวนบำบัด ก่อนบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ในอนาคต