มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (มพก.) ได้ริเริ่มพัฒนาแนวคิดเรื่องสวนบำบัด สำหรับเด็กพิการ คนพิการ และครอบครัว เมื่อปี พ.ศ. 2557  ต่อมาได้ พัฒนาต่อยอดจากแนวคิดเรื่องสวนบำบัดไปสู่แนวคิดการอาบป่าสำหรับเด็กพิการ คนพิการและครอบครัว ขึ้นมา เพื่อใช้การอาบป่าในการบำบัดฟฟื้นฟูสุขภาวะแบบองค์รวม ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และเรียนรู้เรื่องสังคมในการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับผู้อื่น โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 นอกจากนี้การอาบป่า ยังเป็นกิจกรรมที่สร้างโอกาสให้เด็กพิการ คนพิการ และสมาชิกในครอบครัวได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

การอาบป่า หรือ “Shinrin-yoku” ในภาษาญี่ปุ่น เป็นวิธีการบำบัดที่เน้นการใช้ธรรมชาติในการรักษาและเสริมสร้างสุขภาพจิตและร่างกาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอาบป่าให้ประโยชน์มากหมาย อย่างเช่น

1. ลดความเครียดและความวิตกกังวล

    การอยู่ในธรรมชาติช่วยให้จิตใจสงบลงและลดความเครียด

2. เสริมสร้างสมาธิและความคิดสร้างสรรค์

    การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น

3. ส่งเสริมสุขภาพกาย

    การเดินเล่นในป่าช่วยให้ร่างกายได้ออกกำลังกายเบาๆ และยังส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

4. พัฒนาทักษะการสังเกตและการเรียนรู้

    เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ในป่า

กิจกรรมสวนบำบัด และอาบป่าบำบัดไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตและร่างกายของเด็กพิการ และคนพิการ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม ในการพบปะและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและทักษะการสื่อสารในสังคม

จากโอกาสในการเข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ International Forest Bathing Day 2024 วันอาบป่าสากล เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรูปแบบล้อมวงอัพเดตสถานการณ์อาบป่าเมืองไทย และร่วมขบวนขับเคลื่อนงานอาบป่าในมิติที่หลากหลาย ทั้ง Healing landscape, Holistic Lifelong Learning, Environmental  Psychology, Wellness tourism, Forest Bathing for Special needs ที่ผ่านมา พบว่า การอาบป่าเมืองไทยยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง สำหรับประเทศที่มีพื้นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะเดียวกัน การอาบป่าต่างประเทศเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังมีหลักสูตรสำหรับนักอาบป่าโดยเฉพาะเรียกว่า “ ANFT Forest Therapy Guide” เพื่อให้มนุษย์ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ โดยมี Guide เป็นคนนำทาง หรือที่เรารู้จัก “ผู้นำกระบวนกร” การจัดสัมมนาในวันอาบป่าสากล เกิดขึ้นจากการรวมพลสำหรับผู้สนใจในเรื่องของการอาบป่า เรียกว่า “ชุมชนอาบป่า” เป็นขบวนของกลุ่มส่วนน้อยที่เห็นความสำคัญและพยายามผลักดันให้เกิดสมาคมอาบป่าเมืองไทย เพื่อเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้สำหรับคนที่สนใจใน และเปิดกว้างสำหรับแหล่งข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการอาบป่า และเป็นแหล่งอ้างอิง การอาบป่าบำบัดสำหรับประเทศไทย หนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนนั้น มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ นำโดย นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญ ในการนำธรรมชาติเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูเด็กพิการ และครอบครัว และเป็นอีกหนึ่งชุมชนทางด้านองงค์ความรู้และการนำอาบป่าไปใช้อย่างประจักษ์ โดยเริ่มการนำเอาหลักสูตรสวนบำบัด จนนำไปสู่การอาบป่าบำบัดสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือ กลุ่มครอบครัวเด็กพิการ จากการฟังการเสวนาของ ดร.สิริลักษณ์  โปร่งสันเทียะ อาจารย์จากศูนย์การศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้นำเอา กิจกรรมสวนบำบัดสู่การอาบป่าสำหรับกลุ่มเด็กพิการ คนพิการ และครอบครัว โดยอ้างอิงข้อมูลวิชาการและรูปแบบกิจกรรมของมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ เพื่อนำไปประยุกต์ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 7-8 กันยายน 2567 ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอาบป่า กับขบวนการอาบป่าเมืองไทย ณ ศูนย์รวมตะวัน จ.กาญจนบุรี เป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้และสังเกตการณ์ โดยการนำอาบป่าของ ANFT Forest Therapy Guide หลายท่าน เพื่อการนำกระบวนการอาบป่า ที่ให้ ผู้เข้าร่วมได้ทำความเข้าใจในตัวเอง ให้เวลากับการอยู่กับตัวเอง และสร้างความเชื่อใจระหว่างธรรมชาติของป่ากับมนุษย์ จนสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่ไม่สามารถแยกออกเป็นส่วนๆได้ นอกจากเรียนรู้ว่า “ธรรมชาติได้ให้อะไรกับเราบ้าง ยังเรียนรู้ว่า แล้วเราได้ให้อะไรกับธรรมชาติไปบ้าง” รวมถึง การที่เราปฏิบัติต่อธรรมชาติในมุมมองที่เท่าเทียมกันอีกด้วย

#เนื่องในวันอาบป่าสากล #มูลนิธิเพื่อเด็กพิการขอร่วมเฉลิมฉลอง การอาบป่าเป็นส่วนหนึ่งของศาตร์การบำบัด เป็นกิจกรรมที่ควรค่าแก่การสนับสนุนและเผยแพร่ เพื่อให้เด็กพิการได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบำบัดรูปแบบนี้ #ธรรมชาติจะทำให้เด็กพิการเห็นความงดงามในตัวเอง

สค.ร. ฮายาตี บินดอเล๊าะ นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ